บันทึกประสบการณ์ติดเชื้อโควิดปี 2022

23 กุมภาพันธ์ 2565 คือวันที่ผมรู้ตัวเองว่าติดเชื้อโควิด ณ วันนี้ รัฐบาลยังนับผู้ติดเชื้อจากผลการ PCR Test เท่านั้น ยอดผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 20,000 กว่าคน หากนับรวม ATK Test ตัวเลขก็จะอยู่ที่ประมาณ 40,000 คน

รวมทั้งโลก วันนี้วันเดียวติดเชื้อเพิ่ม 1.6 ล้านคน และผมก็เป็นหนึ่งในล้านนั้น!

อาการเริ่มจากเจ็บคอ ตัวอุ่นๆ ก็สงสัยตัวเองตั้งแต่วันแรก เลยตรวจ ATK แบบน้ำลาย ผลยังเป็นลบก็เลยอุ่นใจว่าคงป่วยเป็นไข้หวัดธรรมดา พอกินยาลดไข้ก็หาย แต่ก็มีอาการไอและเสมหะเพิ่มขึ้นมา อีก 3 วันหลังจากนั้นก็เลยลองตรวจอีกรอบ(แบบน้ำลาย) ผลเป็นบวกแบบจางๆ เพื่อความชัวร์ เลยไปหาซื้ออีกยี่ห้อนึงมาตรวจ(เป็นแบบน้ำลายเหมือนเดิม) ผลตรวจออกมาขัดแย้งกับยี่ห้อแรกก็เลยต้องไปหาซื้อยี่ห้อที่ 3 มาตัดสิน คราวนี้เลือกเป็บบปั่นจมูก ผลออกมาเป็นบวกชัดเจน สรุปคือการเทสแบบน้ำลายเชื่อถือไม่ค่อยได้ ไม่แนะนำ

เข้าสู่กระบวนการ

พอรู้ว่าติดโควิด ก็แจ้งบริษัทเพื่อเข้าโครงการ Factory SandBox ขั้นตอนการแจ้งรวดเร็วดี บริษัทประสานงานกับโรงพยาบาลเสร็จก็โทรมาบอกว่าประสานงานให้เรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้นไม่นานบริษัทก็ส่งรถพยาบาลมารับถึงหน้าบ้าน ต้องขอบคุณคนขับรถที่ไม่ได้เปิดไซเรนเข้ามาในหมู่บ้าน แค่นี้คนในหมู่บ้านผมก็ตกอกตกใจกันแทบแย่แล้ว! คนขับรถมาในชุดหมีคลุมทั้งตัว ออกมาเปิดประตูท้ายรถให้ผม ภายในรถก็เหมือนรถฉุกเฉินที่เห็นในหนัง มีเตียงสนาม มีอุปกรณ์ช่วยชีวิต คนขับรถจะต้องไปรับผู้ติดเชื้ออีก 2 คน รู้ทั้งรู้ว่าตอนนี้ตัวเองติดเชื้อโควิดแล้ว แต่เวลาที่ต้องนั่งใกล้ๆกับผู้ติดเชื้อคนอื่นๆ ความรู้สึกกลัวก็ไม่ได้หายไปไหน “ผมกลัวติดโควิด ทั้งๆที่ติดอยู่แล้ว”

รถพยาบาลมาส่งผมที่โรงพยาบาลวิภารามเวลา 4 โมงเย็น แน่นอน เขาไม่ให้โรงพยาบาล เขาให้รออยู่ที่ลานจอกรถกลางแจ้ง มีเต็นท์สนามกางให้หลบแดด มีเก้าอี้ให้นั่งรอ ซึ่งจำนวนไม่เพียงพอ ทำให้หลายๆคนต้องยืน ใครลุกจากเก้าอี้ถ้าไม่เอากระเป๋าวางจองไว้ก็จะมีคนมาคว้าไปนั่งทันที แสงแดดแผดเผามาก ทำให้แต่ละคนกระจัดกระจายกันไปอาศัยเงาร่มไม้ตามจุดต่างๆ มีกระเป๋าคนละใบสองใบ มองๆดูแล้วเหมือนแคมป์ผู้ลี้ภัยสงคราม คิวผมจะได้ขึ้นรถรอบ 6 โมงเย็น ต้องยืนรออีก 2 ชั่วโมงกะว่าคงพอไหว แต่ที่ไหนได้ปาไปเกือบ 7 ชั่วโมงกว่าจะได้เข้าโรงแรมที่พัก เหนื่อยมากที่ต้องยืนรอท่ามกลางอากาศร้อนๆ รอตั้งแต่บ่ายยันมืด เริ่มหมดพลัง เริ่มเหนื่อยล้า เริ่มหิว ไม่มีข้าว ไม่มีน้ำ

เวลาตอนนี้คือ 2 ทุ่ม ผมก็ยังคงยืนรออยู่ที่เดิม รถตู้รับส่งผู้ป่วยติดเชื้อมีเพียงคันเดียว เฉลี่ยไป-กลับ 1 เที่ยวใช้เวลา 1 ชั่วโมง ปริมาณผู้ป่วยรอบ 5 โมงยังเหลือตกค้างอยู่เพียบเลย ส่วนผมเป็นคิวรอบ 6 โมง คงต้องรอต่อไปอีกนาน สงสารผู้หญิงกับคนที่ป่วยอาการเยอะๆ แต่ในวิกฤตยังมีโชคดีอยู่บ้าง อย่างแรกคือ มีเพื่อนอาสาซื้อของจากเซเว่นมาฝาก ผมขอสบู่ ยาสระผมแล้วก็ขนมที่ให้พลังงานจำพวกขนมปังและช็อคโกแลท ทีแรกเพื่อนก็แปลกใจ ป่วยแบบนี้ยังห่วงกินช็อคโกแลทอีกหรอ? แต่บอกเลยว่ามันช่วยได้เยอะ โชคดีอย่างที่สองคือ มีคนโทรเข้าบริษัทเพื่อขอให้บริษัทจัดรถพิเศษมารับพนักงานของบริษัทโดยเฉพาะ บริษัทตอบรับดำเนินการจัดรถให้ 2 คันอย่างรวดเร็ว (PR ให้นิดนึง) กว่าจะมาถึงที่พักก็ 4 ทุ่ม ยังไม่ได้เข้าพักในทันทีนะครับ ต้องรอให้คนตกค้างคนอื่นๆมาถึงให้ครบเสียก่อนเพื่อจะได้เข้าห้องพักทีเดียวพร้อมกัน แต่ตอนนี้สภาพของแต่ละคนโดยเฉพาะผู้หญิงอิดโรยมากๆเพราะรอคอยมา 6 ชั่วโมงเต็มๆ ผมเลยคุยกับพยาบาลเพื่อขอขึ้นห้องพักก่อน ถ้าต้องรอให้คนตกค้างมากันจนครบคงอีกหลายชั่วโมงแน่ๆ พยาบาลเลยให้คีย์การ์ดเรามา 1 คน ต่อ 1 ห้อง พร้อมทั้งให้เราสแกน QR Code เพื่อเข้าไปอยู่ในกลุ่มผู้ป่วย พอเข้าไปอยู่ในกลุ่ม เขาก็ขอข้อมูลส่วนบุคคลของแต่ละคนในกลุ่มซึ่งไม่โอเคเลย แต่ไม่มีทางเลือก แม้แต่บัตรประชาชนก็ต้องถ่ายรูปส่งเข้าไปในกลุ่ม

ขึ้นห้องได้แป๊บเดียว ยังไม่ทันจะทำไรเลยก็โดนเรียกลงมาตรวจ PCR และเจาะเลือด พยาบาลแจกเอกสารยินยอมเข้ารับการรักษาประมาณ 10 กว่าแผ่น อ่านกันดีๆก่อนเซ็นนะครับ ชุดไหนที่อ่านแล้วผมไม่โอเค ผมก็ไม่เซ็น(ทั้งนี้ก็ได้อธิบายกับหมอแล้วว่าทำไมถึงไม่เซ็น) กว่าจะตรวจเสร็จ กว่าจะอาบน้ำ กว่าจะได้นอนก็เที่ยงคืนกว่าๆ จากเดิมที่อาการน้อยๆก็เริ่มจะมาหนักก็เพราะแบบนี้แหละ

อาหารการกิน

ข้าวกล่องจะถูกวางไว้โต๊ะหน้าห้อง

แต่ละมื้อ จะมีคนเอาข้าวกล่องมาวางไว้ที่หน้าห้อง แล้วเขาก็จะกดกริ่งเป็นสัญญาณให้รู้ว่ามีอาหารมาส่งแล้ว ช่วงเวลาที่มาส่ง บางวันช้ามากจนหิว บางวันก็เร็ว ไม่มีมาตรฐาน ปริมาณอาหารไม่ค่อยสมดุลย์ คือ ให้ข้าวมามากกว่ากับข้าว ส่วนมากผมกินกับหมดก่อนข้าวประจำ

ตัวอย่างเมนูอาหาร

เมนูส่วนมากเป็นเมนูที่ไม่ค่อยมีผัก ไม่ถูกหลักโภชนาการเหมือนของโรงพยาบาล ทำให้ผมมีปัญหาเรื่องการขับถ่าย ด้านรสชาติผมว่าค่อนไปทางอร่อย แรกๆผมเข้าใจว่าทางโรงแรมไปเหมาซื้อข้าวกล่องจากร้านอาหารข้างนอกมาส่งให้แต่ละห้อง แต่มีอยู่วันนึง คนส่งข้าวลืมเอาข้าวมาส่งที่ห้องผม รอนานมากจนหิวโซเลยโทรไปตามจึงได้รู้ว่าข้าวกล่องพวกนี้ทางโรมแรมเป็นคนทำเอง บางมื้อที่แม่ครัวทำเมนูที่ไม่ถูกปากก็ต้องกล้ำกลืนฝืนกิน ขอเพิ่มได้ถ้าไม่อิ่ม แต่ก็จะได้อาหารเมนูเดิม สามารถสั่งของผ่านแอพต่างๆได้โดยต้องจ่ายเงินให้เรียบร้อยแล้วให้เมสเซ็นเจอร์เอามาฝากไว้ที่ล็อบบี้โรงแรม แล้วโรงแรมจะเอาของที่แต่ละคนสั่งมาวางไว้ที่หน้าห้องทุกๆวันอังคารกับวันพฤหัสบดี ส่วนผมไม่มีแอพสั่งอาหารในโทรศัพท์มือถือเลยแม้แต่แอพเดียว ผมเลยใช้วิธีเดียวกันกับหนังเรื่อง The 33 ที่คนงานเหมืองแร่ประเทศชิลีจำนวน 33 คนไปติดแหง็กอยู่ใต้เหมืองและมีอาหารพอประทังชีวิตจำนวนจำกัด ถ้าอยากรู้เขาทำยังไงลองไปหาดูกันนะครับ

ชีวิตความเป็นอยู่

ที่พักดีเลย ทันสมัย สะดวกสบาย ขนาดห้องไม่เล็กไม่ใหญ่ เปิดประตูเข้ามา ด้านขวามือจะเป็นห้องน้ำขนาดกว้างพอ เวลาเข้าไปไม่รู้สึกอึดอัด ภายในมีห้องอาบน้ำแบบ Shower และ Rain Shower กั้นด้วยกระจกสูงท่วมหัว อ่างล้างหน้าใหญ่พอที่จะซักผ้า ล้างจานได้ ข้างๆอ่างล้างหน้ามีกะละมังใบเล็กๆ, น้ำยาล้างจาน และผงซักฟอกเตรียมไว้ให้ รวมถึงอุปกรณ์อาบน้ำ ตรงข้ามห้องน้ำเป็นตู้เก็บเสื้อผ้าบิลด์อิน มีตู้เย็นเล็กๆให้ 1 ตู้ เดินมาอีกนิดฝั่งขวาเป็นเตียง ฝั่งซ้ายเป็นทีวีและมุมกินข้าว เดินมาจนสุดห้องจะเจอประตูที่ออกไปนอกระเบียง สิ่งที่แย่คือไม่มี Room service ตลอดระยะเวลาการเข้าพัก เมื่อผ่านไป 3-4 วันจะรู้สึกได้ถึงฝุ่นที่ลอยล่องอยู่ในอากาศอย่างชัดเจนจนต้องเอาหน้ากากมาใส่ ของจำพวกขยะ จะมีถุงขยะเตรียมไว้ให้เป็นแพ็ค หากต้องการทิ้งให้มัดปากถุงแล้วเอามากองไว้หน้าห้องใครห้องมัน จะมีคนมาเก็บทุกวัน

ห้องพักโรงแรม 3 ดาว

พอเข้าสู่วันที่ 3 จากที่เคยให้พักห้องละคน เปลี่ยนเป็นพักห้องละ 2 คน เพราะมีผู้ป่วยที่รอเข้ารับการรักษาเพิ่มอีก 400 คน! ใครที่ประสงค์จะพักเดี่ยวต้องจ่ายเพิ่ม 600 บ./คืน ความนัวก็บังเกิด เมื่อหลายคนขอกลับไปรักษาตัวที่บ้านเพราะไม่อยากพักร่วมกับคนไม่รู้จัก แต่โรงพยาบาลไม่อนุญาตให้กลับ โดนไฟต์บังคับแบบนี้ผู้ป่วยเลยจับคู่กันเอาเอง โดยส่วนมากก็จับคู่กับห้องใกล้ๆกัน ส่วนคนที่หาคู่ไม่ได้ โรงแรมจะเป็นคนจับคู่ให้ โรงแรมก็มั่วอีก บางคนเก็บกระเป๋าออกจากห้องเพื่อจะไปห้องใหม่ที่โรงแรมจับคู่ให้ แต่พอไปเคาะประตู ปรากฏว่าห้องนั้นมีคนอยู่เต็มแล้ว! บางคนคอนเฟิร์มว่าจะอยู่คนเดียว ยอมจ่ายส่วนต่าง แต่โรงแรมก็นำไปจับคู่กับห้องอื่นอีก!

การรักษา

การดูแลรักษาไม่ค่อยทั่วถึง น่าจะเป็นเพราะจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อที่เยอะมากๆบวกกับกลุ่มเราเป็นผู้ป่วยสีเขียว เวลามีผู้ป่วยถามลงไปในไลน์กลุ่ม ไม่ค่อยจะได้รับคำตอบเท่าไหร่ หลายคนขอร้องให้เข้ามาตอบข้อสงสัยแต่ก็ถูกเพิกเฉยเหมือนเดิม ผมเคยถามไปในกลุ่มครั้ง/สองครั้งก็ไม่ได้รับคำตอบเช่นกัน ต้องโทรเท่านั้น โทรครั้งแรกจะเป็นการรับเรื่องไว้ ถ้าไม่โทรตามอีกรอบก็จะถูกลืม ใครที่มีอาการทรุดหนัก เขาจะส่งตัวกลับไปรักษาที่โรงพยาบาล ส่วนคนที่ไม่มีอาการ ก็ให้อยู่ไปเรื่อยๆจนครบระยะ 10 วัน

ยาแก้ไอตราไวกิ้ง

แจกยา 2 ครั้ง ครั้งแรกจะเป็นยาทั่วไป มียาแก้ไอที่รสชาติแย่ยิ่งกว่าเหล้าขาว, ยาพารา, ยาขับเสมหะ, และยาแก้แพ้ ครั้งที่สองแจกฟ้าทลายโจรให้กินวันละ 16 เม็ดเป็นระยะเวลา 5 วัน การตรวจอุณหภูมิร่างกาย ค่าออกซิเจน และอัตราการเต้นของหัวใจนั้นผู้ป่วยจะต้องตรวจกันเอง โดยพยาบาลจะแจกอุปกรณ์การตรวจมาให้ จะมีปรอทกับเครื่องวัดแบบหนีบนิ้ว สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวจะได้รับเครื่องวัดความดันเพิ่มอีกอัน เมื่อตรวจเสร็จ แต่ละคนจะต้องถ่ายรูปค่าที่วัดได้ส่งเข้ามาในไลน์กลุ่มทุกวัน ซึ่งบอกเลยว่าไอ้ที่ส่งๆไป พยาบาลไม่ได้ดูเลย แค่เลื่อนผ่านๆให้มันพ้นๆไป! ที่กล้าพูดแบบนี้เพราะตัวผมไม่เคยวัดค่าถ่ายรูปส่งเข้าไลน์กลุ่มเลยแม้แต่วันเดียว ก็ไม่เห็นมีใครมาท้วงตาม และสิ่งสำคัญที่เป็นไฮไลท์เลย นั่นก็คือ การตรวจปอด ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจปอด 3 ครั้ง คือ วันที่ 2,6,8 เมื่อถึงวันตรวจ(ผมเรียกว่าวันนรก) พยาบาลจะส่งรายชื่อเข้ามาในไลน์กลุ่ม แล้วคนที่มีรายชื่อก็จะต้องไปลงรับบัตรตรวจ แล้วก็รอรถตู้มารับไปตรวจที่โรงแรมอื่น ซึ่งรถตู้มีวิ่งอยู่ 2-3 คัน วิ่งวนรับ-ส่งจนกว่าจะครบทั้งหมด และที่บันเทิงกว่านั้นคือ เมื่อไปถึงจุดตรวจปอด(เป็นรถตรวจแบบเคลือนที่) เราจะพบผู้ป่วยจากที่อื่นอีก 3 โรงแรมมารอตรวจ! แถวยาวเหยียดแล้วก็ไม่มีระเบียบเลย รถตรวจมีเพียงแค่คันเดียว แต่มีแถวรอตรวจถึง 4 แถว และไม่กำหนดชัดเจนว่าแถวไหนจะได้ไปก่อน ขึ้นอยู่กับว่าใครไวก็ได้ตรวจก่อน ทำให้แต่ละแถวต่างฝ่ายต่างดันเบียดเพื่อที่จะได้เข้าไปตรวจก่อน ติดดชิดกันมาก นาทีนี้คงไม่ได้เป็นแค่โควิดแล้ว…น่าจะได้เป็นผัวเป็นเมียกันด้วย! จนผู้ชายที่ต่อแถวอยู่ข้างหลังผมเป็นลมล้มหัวฟาดพื้น ดังมาก! ผู้หญิงร้องตกอกตกใจกันเสียงดัง พยาบาล 4-5 คนพากันวิ่งเข้ามาช่วยปฐมพยาบาล เห็นได้ชัดว่าการจัดการไม่ดีเอาเสียเลย เอาผู้ติดเชื้อมารวมกันแทนที่จะแยกเป็นช่วงเวลา

สรุปภาพรวม

ตลอดช่วงเวลาที่พักรักษาตัวที่โรงแรม มีคนเป็นห่วงผมว่าจะเป็นโรคซึมเศร้า ช่วงวันแรกๆ ผมเองก็ไม่กล้าตอบ ว่าจะเป็นหรือเปล่าเพราะไม่เคยมาแบบนี้ เคยไปเที่ยวต่างประเทศคนเดียวเกือบๆ 10 วันก็ไม่มีอาการซึมเศร้าแต่นั่นอาจเพราะว่าไปเที่ยวไปสนุกก็เลยไม่เกิดอาการซึมเศร้า

ตอนนี้ได้คำตอบแล้วว่า ไม่เลย ไม่แม้แต่เหงา ไม่ใกล้เคียงกับคำว่าซึมเศร้า ไปเที่ยวต่างประเทศยังเหงากว่านี้อีก ที่นี่มีทีวี มีเคเบิ้ล ช่องข่าวช่องหนังทั้งไทยและต่างประเทศให้ดูได้ไม่เบื่อ จนผมกลายเป็นแฟนข่าวช่อง Sky News กับ Alja Zeera การใช้ชีวิตช่วงแรกๆอาจมีติดๆขัดๆ เช่น นอนดึก ตื่นเช้า แต่พอปรับกิจวัตรประจำวันของเราได้แล้ว ทุกอย่างลงตัวมาก เช่นเดียวกับอาหาร ช่วงวันแรกๆดูไม่โอเคแต่พอเราปรับตัวเข้าหามันได้ ทุกอย่างก็ดูราบรื่น มีเวลาเขียนหนังสือ อ่านหนังสือ ออกกำลังกาย ดูทีวี

ด้านที่พัก แม้จะให้อยู่ห้องละ 2 คน แต่ตัวผมเลือกที่จะอยู่คนเดียวโดยยอมจ่ายส่วนต่าง พอถึงวันสุดท้ายที่ออกโรงแรม เขาก็ไม่ได้คิดเงินเพิ่ม(น่าจะขู่ หรือไม่ก็ลืม) จุดที่ควรจะต้องแก้ไขก็เป็นในเรื่องของการจัดการ รู้สึกว่ายังไม่ดีพอในการจัดสรรผู้ป่วย/จัดระบบคิว ในภาพรวมถือว่าโอเคในระดับนึง แต่ถ้าต้องให้ผมเลือกอีกครั้งระหว่างรักษาตัวที่โรงแรมกับที่บ้าน…ผมเลือกที่บ้านดีกว่า